ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ เทคโนโลยี และการแข่งขันทางการค้าภายใต้กรอบนโยบายการเปิดเสรีทางการค้าของประชาคมโลก ที่จะเชื่อมโยงสังคมเป็นหนึ่งเดียวกัน รวมทั้งส่งผลให้เกิดสถานการณ์ปัญหาที่สลับซับซ้อนและเกิดการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อันเนื่องมาจากขาดการเตรียมความพร้อมของทรัพยากรบุคคลในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่เท่าทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตร
สถาบันอุดมศึกษาซึ่งถือเป็นหน่วยผลิตและเป็นแหล่งรวมทรัพยากรที่มีคุณค่าและสำคัญยิ่ง ของประเทศ มีบทบาทสำคัญในการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพทั้งในด้านความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ มีเจตคติที่ดีต่อการดำรงวิถีชีวิต การประกอบอาชีพอย่างมั่นคง และยั่งยืน มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เป็นคนดี คนเก่ง สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข สามารถดึงศักยภาพของตนเอง ในการริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นพลเมืองดีรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม รวมทั้งการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการแก้ปัญหาโจทย์ของชุมชน
ซึ่งในปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และสถาบันอาศรมศิลป์ ที่เล็งเห็นความสำคัญและได้มีนโยบายและยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการระบบการศึกษาที่เน้นการบูรณาการวิชาการสายรับใช้สังคม พัฒนากระบวนการเรียนรู้หรือปรับวิธีการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ๆ และพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ให้มีความพร้อมในการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพเป็นพลเมืองที่ดี
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาร่วมกับ มูลนิธิสยามกัมมาจล และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้จัดให้มีการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง “การพัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคม” ในวันที่ 29 มิถุนายน 2554 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการจัดการความรู้ (Knowledge Management) และถอดบทเรียนกรณีศึกษาตัวอย่างความสำเร็จ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อยอด และพัฒนาตามความเหมาะสม ในแต่ละบริบทของสถาบันอุดมศึกษาต่อไป